วันเสาร์, 12 ตุลาคม 2567

ปราสาททองหลาง

22 ต.ค. 2023
144
ปราสาททองหลาง จากลักษณะแผนผังและรูปแบบสถาปัตยกรรม สันนิษฐานได้ว่า มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เทียบได้กับศิลปะเขมรแบบปาปวน (พ.ศ.1550-1620) ร่วมสมัยกับปราสาทบ้านเบ็ญจ์ ปราสาทแห่งนี้แสดงถึงอิทธิพลอาณาจักรขอมในด้านการเมืองการปกครองและศาสนาที่พบในบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติโดยประกาศในราชกิจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 และกำหนดเขตที่ดิน โบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอรที่ 155 วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2525 พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ 3 งาน 2 ตารางวา
ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงจะผลัดเปลี่ยนเวรกันมาทำความสะอาดทุกวันที่ 15 ของเดือน เพื่อให้โบราณสถานแห่งนี้คงเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสวยงามและน่าเข้าชม
– ปราสาททองหลาง –
++ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองอ้ม ตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
++ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๓๔ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ หน้า ๑๕๓๔ และประกาศขอบเขตพื้นที่โบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๕๕ หน้า ๓๓ (ฉบับพิเศษ) วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ มีพื้นที่ประมาณ ๖ ไร่ ๓ งาน ๕๒ ตารางวา
++ลักษณะเป็นปราสาทอิฐ ๓ หลัง ตั้งเรียงในแนวทิศเหนือ – ใต้ หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก อยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าลักษณะเป็นฐานบัว ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมาเป็นบันไดทางขึ้น ปราสาทหลังกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าปราสาทด้านข้างทั้งสองหลัง
++ปราสาททั้ง ๓ หลัง บริเวณส่วนกรอบประตูทางเข้าทำจากหินทราย ผนังทั้งสามด้านก่อด้วยอิฐ และทำประตูหลอกเลียนแบบเครื่องไม้ ก่ออกเลาเป็นแกนอยู่ตรงกลาง ลักษณะแผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม โดยก่อมุขสั้นๆเป็นประตูหลอก มีเสาประดับผนังยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ที่ฐานและโคนเสารองรับปลายซุ้มหน้าบันทำเป็นลายบัวคว่ำ สลักอิฐเป็นลายลวดบัว เช่นเดียวกับเรือนธาตุที่ส่วนบนที่ทำเป็นลายบัวคว่ำ บริเวณหน้าบันก่อด้วยอิฐขัดเรียบสลักลายเป็นกรอบหน้าบัน สามารถเห็นลายชัดเจนได้ที่หน้าบันด้านทิศเหนือและทิศใต้ โดยสลักเป็นลายคล้ายกลีบบัว ๕ กลีบ ปลายซุ้มสลักรูปสามเหลี่ยม สลักลายเส้นลวดบัวคั่นระหว่างส่วนทับหลังและหน้าบัน หลังคาทำจำลองเป็นรูปเรือนธาตุซ้อนลดหลั่นขึ้นไปเป็นชั้นๆ
++ด้านนอกรอบตัวปราสาท มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปเกือกม้า คูน้ำกว้างประมาณ ๒๐ เมตร และมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือห่างออกไปประมาณ ๒๐ เมตร มีขนาดกว้าง ๖๐ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร ทางด้านทิศตะวันออกถัดจากคูน้ำออกไปประมาณ ๑๗๐ เมตร มีบารายขนาดใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง ๔๓๐ เมตร ยาว ๔๕๕ เมตร ลึกประมาณ ๒ เมตร ปัจจุบันตื้นเขินเป็นที่นา บ้านเรือนราษฎร และขอบบารายด้านทิศใต้เป็นถนนเข้าสู่ตัวปราสาท เดิมบารายแห่งนี้รับน้ำมาจากห้วยธาตุที่ไหล มาจากทางด้านทิศตะวันตก ไหลขนานขอบบารายด้านทิศเหนือไปทางอำเภอเดชอุดม การชักน้ำจะชักน้ำเข้าบารายทางด้านทิศตะวันตก โดยการขุดร่องน้ำนำน้ำจากห้วยธาตุในฤดูฝนเข้ามาขังเอาไว้ พื้นบารายเอียงลาดไปทางทิศตะวันออก เมื่อน้ำเต็มแล้วส่วนที่เกินจะไหลไปตามลำห้วยเดิม
++แม้ไม่พบหลักฐานเป็นจารึกหรือเอกสาร แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบลักษณะสถาปัตยกรรมของตัวปราสาทแสดงให้เห็นว่าปราสาทแห่งนี้เป็นศาสนสถานในอิทธิพลศิลปะเขมรโบราณ ที่พบแพร่หลายในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย ในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ สอดคล้องกับหลักฐานอื่นๆที่พบ ได้แก่ ชิ้นส่วนทับหลัง ๒ ชิ้น คือ ทับหลังแกะสลักลายใบไม้ม้วน และทับหลังแกะสลักลายหน้าบุคคลเห็นเพียง ๒ หน้า มีพวงอุบะกั้นกลาง สันนิษฐานว่าเป็นแถวฤาษีนั่งอยู่ช่วงบนของทับหลังเหนือท่อนพวงมาลัย เป็นลักษณะของทับหลังในช่วงปลายสมัยคลัง – บาปวน อายุราวช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึง พุทธศตวรรษที่ ๑๗ รวมถึงการศึกษาเศษภาชนะดินเผาที่พบจากการขุดแต่ง เมื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับภาชนะดินเผาที่พบในแถบภาคอีสานโดยเฉพาะแหล่งเตาในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเคยมีการศึกษาและกำหนดอายุแล้ว พบว่าลักษณะของเนื้อดิน รูปทรง และน้ำเคลือบของเศษภาชนะดินเผาที่พบ มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘ ร่วมสมัยกับชิ้นส่วนประติมากรรมรูปบุคคล ที่นายล้วน ปาซาโร ขุดพบในขณะทำนาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ บริเวณด้านทิศเหนือของปราสาททองหลาง ห่างออกไปประมาณ ๒๐ เมตร ลักษณะเป็นชิ้นส่วนเทวรูปทำจากหินทราย ตั้งแต่บั้นพระองค์ลงมาจนเกือบถึงพระชานุ นุ่งผ้าสั้นจีบเป็นริ้ว ลักษณะคล้ายโจงกระเบน ขอบผ้าเว้าลง ที่บริเวณหน้าท้อง และมีชายผ้าชักออกทางด้านข้างทั้งสองข้าง ชายกระเบนด้านหลังมีรูปคล้ายหางปลา ซึ่งลักษณะการนุ่งผ้าแบบนี้สามารถเทียบเคียงได้กับศิลปะเขมร แบบนครวัด มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗
++ดังนั้น จากหลักฐานรูปแบบสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และ โบราณวัตถุที่พบ สันนิษฐานว่าปราสาททองหลางสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – พุทธศตวรรษที่ ๑๗
++โบราณสถานแห่งนี้ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมเสริมความมั่นคงแล้ว โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ดำเนินการขุดแต่งเพื่อเขียนแบบบูรณะปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับงบประมาณเพื่อการบูรณะเสริมความมั่นคง และในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้ดำเนินการปรับภูมิทัศน์สภาพแวดล้อมโดยรวม รวมทั้งปรับปรุงเส้นทางการเข้าถึงแหล่ง ปัจจุบันปราสาททองหลางได้รับการดูแลรักษาจากสำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี ร่วมกับกลุ่มอาสาสมัคร
ท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) และ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี
– อ้างอิงจาก –
++อดิศักดิ์ สุทธิรัตน์. รายงานการสำรวจโบราณสถานปราสาททองหลาง บ้านหนองอ้ม ตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี. สำนักงานศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี, ๒๕๔๕.
++สำนักงานศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี. รายงานการขุดแต่งปราสาททองหลาง ตำลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี. ห้างหุ้นส่วนจำกัด พรอนันท์ก่อสร้าง, ๒๕๔๖.
++สำนักงานศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี. รายงานการบูรณะโบราณสถานปราสาททองหลาง บ้านหนองอ้ม ตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปุราณรักษ์, ๒๕๔๘.
โดย นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล