วันพฤหัสบดี, 10 ตุลาคม 2567

วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ หรือวัดใต้เทิง จังหวัดอุบลราชธานี

01 พ.ย. 2023
323

วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ หรือวัดใต้เทิง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งที่เคยเป็นวัดฝ่ายวิปัสสนาธุระของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ พระพุทธรูปสำคัญที่ประชาชนให้ความเลื่อมในเคารพศรัทธษ หนึ่งในห้าพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อที่ประดิษฐานอยู่ในประเทศไทย นอกจากนั้นภายในวัดยังมีโบราณวัตถุเป็นหลักศิลาจารึกหินทราย 2 หลัก วิหารเฉลิมพระเกียรติ 200 ปี และเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ

ประวัติวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อุบลราชธานี

วัดพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ หรือวัดใต้เทิง สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏ มีประวัติเล่าว่าในสมัยพระเจ้าพระพรหมราชวงศา (ทิดพรหม) พระมหาราชครู (เจ้าหอแก้ว) ได้มานั่งปฏิบัติธรรมฐานอยู่บริเวณเหนือแม่น้ำมูลเป็นประจำ เจ้าครองเมืองพร้อมด้วยไพร่บ้านพลเมืองได้มาสร้างสำนักสงฆ์ให้เป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระมหาราชครูเจ้าหอแก้ว เรียกว่า วัดใต้ท่า บริเวณตอนบนเรียกวัดใต้เทิง เขตวัดทั้งสองติดกันเพียงแค่มีถนนกั้น ในสมัยเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นผู้ครองสังฆมณฑล ได้นำวัดใต้ท่าไปรวมกับวัดใต้เทิง ชาวบ้านทั้งสองคุ้มวัดได้แสดงถึงความสามัคคีกันจึงได้มีมติ ตกลงกันเรียกว่า “วัดใต้” ปัจจุบันคำว่า “เทิง” ได้ เลือนหายไป คำว่า เทิง เป็นภาษาอีสานมีความหมายว่า บน หรือ เหนือ อยู่สูง อยู่บนขึ้นไป วัดใต้เทิง คือ วัดที่อยู่เหนือขึ้นไป ถัดไปจากวัดใต้ท่าที่ตั้งอยู่ใกล้ริมแม่น้ำมูล

วัดพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อนั้นเคยเป็นวัดฝ่ายวิปัสสนาธุระของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เดิมมีหาดทรายขาวสะอาดยาวเหยียดเป็นที่ท่องเที่ยว เรียกว่า หาดวัดใต้ ต่อมามีการดูดทรายขาย หาดทรายจึงจมหายไปอย่างน่าเสียดาย

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ เช่น พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ พระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร 4 องค์ พระพุทธรูปเจตมูนเพลิงองค์ตื้อ (สีดำสนิท) อีก 1 องค์

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อุบลราชธานี

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นพระประธานในอุโบสถเป็นทองนาคสำริด หนักเก้าแสนบาท  พุทธลักษณะเป็นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูง 85 นิ้ว (มีผู้สันนิษฐานว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งเวียงจันทน์เป็นผู้สร้าง) พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ มีความสำคัญเป็น 1 ใน 5 องค์ในจำนวนพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งอีก 4 องค์ประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ชัยภูมิ หนองคาย และวัดพระโต อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี และที่ประเทศลาวอีก 1 องค์

ภาพพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ก่อนจะบูรณะ

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เดิมประดิษฐานอยู่บนแท่นพระอุโบสถหลังเก่า ฐานรองรับสูง 70 เซนติเมตร สร้างแบบง่าย ๆ ภายหลังอุโบสถหลังเก่าทรุดโทรม พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อจึงอยู่กลางแจ้ง ตากแดด ตากฝน เป็นเวลานานทำให้องค์พระพุทธรูปองค์ตื้อมีรอยแตกเป็นสะเก็ดออกมา คนเก่าแก่ในสมัยนั้นได้บอกเล่าสืบต่อกันมาว่า “… พระพุทธรูปองค์ตื้อนี้ได้ถูกหุ้มห่อทาปอมพอกเอาไว้ พอกด้วยเปลือกไม้ ยางบด ผสมผงอิฐเจ และทองคำ เงิน นาก สัมฤทธิ์ เงิน รางกาชาดซะพอก ให้น้ำเกลี้ยง น้ำชาดผสมทาปอมพอก แล้วลงรักปิดทองที่เข้าเมืองอุบลราชธานี และเถราจารย์ในสมัยนั้น เพราะเป็นสมบัติล้ำค่าที่ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ ซึ่งองค์พระพุทธรูปเป็นทองแท้สัมฤทธิ์กลัวว่าจะถูกข้าศึกศัตรูขนเอาไป จึงได้ทาปอมพอกปิดเอาไว้ และปล่อยทิ้งเป็นวัดร้างนานถึง 200 ปี…”

ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2507-2508 พระภิกษุสวัสดิ์ ทัสสนีโย และพระราชธรรมโกศล เจ้าอาวาสวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อในขณะนั้น ได้ทำการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2519 เมื่อสร้างฐานแท่นพระพุทธรูปพระประธานเสร็จจึงได้ยกพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อขึ้นประดิษฐานที่แท่นจนถึงปัจจุบันนี้

พระอุโบสถพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

พระอุโบสถมณฑปเพชรเจ็ดแสงพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นสาถปัตยกรรมที่ประกอบด้วยศิลปกรรม 3 ชาติ รวมอยู่ในหลังเดียวกัน กล่าวคือ ส่วนหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ ส่วนช่อ ฟ้าใบระกา เป็นศิลปะขอมผสมเวียดนาม (ช่างไทยเวียดนาม) ส่วนฐานเป็นศิลปะไทยภาคอีสาน ขนาดกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร หน้าต่าง 5 ช่อง ประตู 2 ประตู เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2509 จัดงานฉลองพิธีผูกพัทธสีมา วันที่ 1-5 มีนาคม พ.ศ. 2523 ผู้อำนวยการก่อสร้างคือ พระศรีจันทรคุณ (กันตสีโล ศรีจันทร์ โสวรรณี ) พระปลัดสวัสดิ์ ทัสสนีโย (ตามสีวัน ) ผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง

พระอุโบสถมีการตกแต่งซุ้มขอบประตูหน้าต่างด้วยสีทอง แต่คงไว้ด้วยความเรียบของผนังด้านนอก ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ด้านหลังพระเจ้าใหญองค์ตื้อองค์พระประธานเป็นภาพพระศรีมหาโพธิ์ แลดูคล้ายพระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ ผนังทุกด้านเขียนภาพจิตรกรรมพุทธประวัติและทศชาติชาดก

ที่มุมด้านข้างของพระอุโบสถ จะเห็นองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง ได้แก่ รูปปูนปั้น มียักษ์ยืนอยู่ 2 ข้าง มีท้าวจตุคาม-รามเทพ ภายในมณฑปมีพระอุปคุต ผู้คนที่มากราบไหว้พระที่วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อจะจุดธูปเทียนกันที่มณฑปนี้ ส่วนภายในอุโบสถอนุญาตให้ไหว้พระได้เท่านั้น

หลักจารึกหินทราย วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

บริเวณสองข้างของอุโบสถวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จะมีหลักศิลาจารึกเป็นหินทรายตั้งอยู่ ที่ฐานของหลักจารึกมีข้อมูลชี้แจงว่า

จารึกหลักที่ 1 อบ.13 วัดใต้ “เทิง” อักษรธรรมอีสาน วัตถุจารึกไม้ ประเภทสักทอง ลักษณะรูปใบเสมา กว้าง 55 ซ.ม. สูง 143 ซ.ม. หนา 9 ซ.ม. จารึกอักษรจำนวน 1 ด้าน มี 41 บรรทัด พุทธศตวรรษที่ 19-23 พุทธศักราฃ 2373 จุลศักราช 1192 ตัว รัชกาลที่ 3 ปีที่ 7 ปีขาล ร.ศ. 49 ค.ศ. 1830-1 ปีกดยี่ มีสมเด็จฯ อรรควรราชครูปุสสึตธรรมวงศาเจ้า สมเด็จเจ้าพระพรหมบวรราชวงศาภูมินทร์ เจ้าแผ่นดินในเมืองอุบลราชธานี เป็นประธาน นิพฺพาน ปจฺจโยโหตุ นิจฺจํ ทุวํ ทฺวํ ท่านหัวเจ้าครูแก้วกับเณรพุทธา เป็นผู้เขียน แลฯ

จารึกหลักที่ 2 อบ. 14 วัดใต้ “เทิง” เป็นอักษรธรรมอีสาน วัตถุจารึกศิลาประเภทหินทรายสีแดง ลักษณะรูปใบเสมา กว้าง 67 ซม. สูง 82 ซม. หนา 7 ซม. มีจารึก 1 ด้าน 19 บรรทัด ในราวพุทธศตวรรษที่ 19-24 พุทธศักราช 2377 รัชกาลที่ 3 ปีที่ 11 ปีมะเมีย ร.ศ.53 ค.ศ. 1834-5 ปีกาบสง้า วันพฤหัสบดีแรม 1 ค่ำ เดือน 3 มีสมเด็จฯ อรรควรราชครูปุสสีตธรรมวงศาเจ้า สมเด็จเจ้าพระพรหมมวรราชวงศาภูมินทร์ เจ้าแผ่นดินในเมืองอุบลราชธานี เป็นประธาน นิพฺพาน ปจฺจโยโหตุ นิจฺจํ ทุวํ ทุวํ ท่านเจ้าครูแก้วกับเณรพุทธา เป็นผู้เขียน แลฯ

วิหารเฉลิมพระเกียรติ 200 ปี วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

วิหารเฉลิมพระเกียรติ 200 ปี เป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน คือ พระพุทธมงคลรัตนสิริธัญสถิต วิหารมีขนาดสูงใหญ่ ตกแต่งด้านหน้าด้วยงาช้างคู่ก่ออิฐถือปูน ภายในมีงานจิตรกรรมเขียนเรื่องราวใเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตั้งอยู่ด้านขวาของพระอุโบสถพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ ของวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ภายในเจดีย์เป็นที่สถานที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปเก่าแก่ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระแก้วจักรพรรดิโกเมน พระแก้วจักรพรรดิมรกต พระแก้วจักรพรรดิบุษราคัม และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เกษตร ม.อุบลฯ สืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรผ่านกิจกรรม มือเรียวรอเกี่ยวรวง
ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดสัมมนาสำหรับประชาชนทั่วไปในหัวข้อ “คดีภัยออนไลน์”
เตรียมความพร้อมในการจัดกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ
สา’สุขอุบลฯ สุ่มตรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร
สัมผัสกับธรรมชาติทุ่งดอกกระดุมทอง
ลูกหลานชาวอุบลราชธานี ประกอบพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ประจำปี 2566