วันพฤหัสบดี, 10 ตุลาคม 2567

ลูกหลานชาวอุบลราชธานี ประกอบพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ประจำปี 2566

ลูกหลานชาวอุบลราชธานี ประกอบพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ประจำปี 2566

              ที่ อนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ทุ่งศรีเมือง เทศบาลนครอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์จุรีรัตน์ กอเจริญยศ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี/ประธานแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ประกอบพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ประจำปี 2566 โดยในช่วงเช้ามีขบวนอัญเชิญเครื่องยศเจ้าเมืองตามแบบโบราณจากวัดหลวง พิธีวางขันหมากเบ็ง การแสดงลำกลอนเชิดชูเกียรติพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) โดย ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ศิลปินแห่งชาติ จากนั้นประธานในพิธีจุดเทียนชัย ประกอบพิธีบวงสรวง เปลี่ยนผ้าแพร และสักการะด้วยมาลัยกร และกล่าวสดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) และลูกหลานชาวอุบลราชธานีได้พร้อมใจกันรำถวายมือ เป็นการร่วมสักการะบูชาเชิดชูเกียรติและเป็นการแสดงออก ถึงความเคารพและกตัญญูต่อผู้ปกครองเมือง และบรรพบุรุษ ผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับประวัติ พระประทุมวราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เป็นบุตรของพระเจ้าตาและนางบุศดี เกิดเมื่อปี พ.ศ.2252 ที่นครเวียงจันทร์ เป็นหลานปู่เจ้าปางคำ ราชวงศ์เชียงรุ้ง เจ้าปางคำ ได้อพยพมาสร้างเมืองหนองบัวลุ่มภู (หนองบัวลำภู) หรือ นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน เจ้าคำผงได้เสกสมรสกับเจ้านางตุ่ย ธิดาอุปราช (ธรรมเทโว) อนุชาของพระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) เจ้านครจำปาศักดิ์ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระประทุมสุรราช เมื่อปี พ.ศ. 2323 อันเป็นตำแหน่งนายกองใหญ่คุมเล็ก (ไพร่) อยู่ที่บ้านดู่ บ้านแก ขึ้นกับนครจำปาศักดิ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2329 ได้ย้ายครอบครัวและไพร่พลจากบ้านดู่ บ้านแก มาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่ตำบลห้วยแจระแม โดยพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และตั้งชื่อเมืองนี้ว่า เมืองอุบล จากการร่วมปราบกบฏอ้ายเซียงแก้ว และในปี พ.ศ.2335 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระประทุมสุรราช (เจ้าคำผง) เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ และยกฐานะเมืองอุบล เป็น “เมืองอุบลราชธานี ศรีวนาลัย ประเทศราช
ด้านการสงคราม เป็นทหารเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ช่วยเหลือการสงครามระหว่างไทยกับหัวเมืองประเทศราชและปราบปรามความไม่สงบที่เกิดขึ้นในหัวเมืองต่างๆ หลายครั้ง พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ครองเมืองอุบลาชธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2321 จนถึงปี พ.ศ.2338 รวม 17 ปี ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2338 สิริอายุได้ 85 ปี โดยมีพิธีศพทำเมรุนกหัสดีลิงค์เผาที่ทุ่งศรีเมือง แล้วเก็บอัฐิบรรจุธาตุไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง ปัจจุบันได้นำอัฐิไปไว้ที่วัดหลวง อำเภอเมืองอุบลราชธานี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เกษตร ม.อุบลฯ สืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรผ่านกิจกรรม มือเรียวรอเกี่ยวรวง
ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดสัมมนาสำหรับประชาชนทั่วไปในหัวข้อ “คดีภัยออนไลน์”
เตรียมความพร้อมในการจัดกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ
สา’สุขอุบลฯ สุ่มตรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร
ผลการแข่งขันเรือยาวในงานประเพณีออกพรรษาไหลเรือไฟแข่งเรือยาวและลอยกระทงประจำปี 2566
ม.ราชภัฏอุบล ฯ MOU ร่วมกับ 7 เขตการศึกษาพัฒนานักศึกษาฝึกประสบการณ์ สู่วิชาชีพครูที่มีคุณภาพ